Albania, Republic of

สาธารณรัฐแอลเบเนีย

​​​​​​




     สาธารณรัฐแอลเบเนียเป็นประเทศที่พื้นที่ส่วนใหญ่ร้อยละ ๗๐ เป็นภู เขาซึ่งมีความสูงเหนือระดับทะเลปานกลางไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ เมตร จึงได้สมญาว่าเป็นดินแดนแห่งนกอินทรี (Land of Eagles) เป็นประเทศที่มีโบราณสถานทางประวัติศาสตร์สมัยโรมันเป็นจำนวนมากจนมีการบูรณะและจัดทำเป็นสวนสาธารณะทางโบราณคดี (Archaeological Parks) หลายแห่งเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมซึ่งมีส่วนส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตและนำรายได้มาสู่ประเทศ
     แอลเบเนียแต่เดิมเป็นถิ่นที่อยู่ของพวกอิลลิเรียน (Illyrian) ซึ่งต่อมาสืบสายเป็นกลุ่มเชื้อชาติแอลเบนีหรือแอลเบนอยที่เป็นต้นบรรพบุรุษของชาวแอลเบเนียปัจจุบัน ชนชาติดังกล่าวตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันและจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzentine Empire) ตามลำดับ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑จักรพรรดิอะเล็กซีอุสที่ ๑ คอมนีนุส (Alexius I Comnenus) ทรงให้มีการบันทึกเรียกชื่อดินแดนในการปกครองที่ห่างไกลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิว่าแอลเบเนียเมื่อจักรวรรดิไบแซนไทน์เสื่อมอำนาจลง ชนชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะพวกเซิร์บก็แย่งชิงกันปกครองแอลเบเนียจนดินแดนของประเทศแตกแยกเป็นก๊กเป็นหมู่ ต่อมาขุนนางกลุ่มหนึ่งได้ติดต่อพวกเติร์กให้ช่วยทำสงครามกับฝ่ายตรงข้ามเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นให้เกิดขึ้น พวกเติร์กจึงเห็นเป็นโอกาสขยายอิทธิพลและอำนาจเข้ายึดครองแอลเบเนียตั้งแต่ ค.ศ. ๑๔๓๐ อย่างไรก็ตาม ระหว่าง ค.ศ. ๑๔๔๔-๑๔๗๘แอลเบเนียโดยการนำของขุนนางที่เก่งกล้าชื่อ เกออร์กีคาสตรีออตีสกันเดอร์เบก(Georgi Kastrioti Skanderbeg ค.ศ. ๑๔๐๕-๑๔๗๘) สามารถขับไล่พวกเติร์กออกจากประเทศได้และตั้งตนเป็นกษัตริย์ แต่เมื่อสแกนเดอร์เบกสิ้นพระชนม์พวกเติร์กก็บุกเข้ายึดครองอีกและในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ แอลเบเนียก็ตกอยู่ใต้การปกครองของพวกเติร์กแห่งจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) หรือตุรกีอีกครั้งหนึ่งจนถึง ค.ศ. ๑๙๑๒ การอยู่ใต้การยึดครองของจักรวรรดิออตโตมันยาวนานกว่า ๔๐๐ ปี ทำให้แอลเบเนียรับอิทธิพลทางศิลปะและวัฒนธรรมของพวกเติร์กไว้มากและมีมัสยิดและโบสถ์เก่าที่สวยงามจำนวนมาก แอลเบเนียซึ่งตั้งอยู่ในทวีปยุโรปจึงได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเป็น “ยุโรป”น้อยที่สุดในบรรดาประเทศยุโรปทั้งหมดและยังเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในกลุ่มของอดีตประเทศยุโรปตะวันออกด้วย
     ปัญหาตะวันออก (Eastern Question) ที่ก่อตัวขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙และขยายตัวไปทั่วคาบสมุทรบอลข่าน เปิดโอกาสให้จักรวรรดิออตโตมันเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดทางการเมืองในจักรวรรดิในสมัยที่อาลีปาชาแห่งเมืองยานีนา (Ali Pashaof Janina) เป็นประมุขระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๘-๑๘๒๐ แอลเบเนียซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จึงได้สิทธิปกครองตนเองโดยมีฐานะเป็นรัฐอิสระ (autonomous state)ภายในจักรวรรดิออตโตมัน ในช่วงเวลาดังกล่าวปัญญาชนเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อปลุกจิตสำนึกของความรักชาติให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ในกลางทศวรรษ ๑๘๗๐เมื่อบอสเนีย (Bosnia) และบัลแกเรีย (Bulgaria) เคลื่อนไหวแยกตัวออกจากออตโตมันชาวแอลเบเนียที่รักชาติจึงเห็นเป็นโอกาสจัดตั้งสันนิบาตแห่งพริซเรน (League ofPrizren) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๗๘ เพื่อส่งเสริมการจัดตั้งรัฐชาติแอลเบเนียและการใช้อักษรแอลเบเนียใหม่ในการสื่อสาร รวมทั้งการจะรักษาสถานภาพของเขตแดนโดยเฉพาะคอซอวอ (Kosovo) ซึ่งแอลเบเนียได้คืนจากเซอร์เบียภายหลังการประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน (Congress of Berlin) ต่อมาเมื่อเกิดสงครามบอลข่าน (Balkan War) ครั้งแรกขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ กลุ่มประเทศพันธมิตรสันนิบาตบอลข่านซึ่งประกอบด้วยบัลแกเรีย เซอร์เบีย กรีซ และมอนเตเนโกร (Montenegro) รวมกำลังกันโจมตีจักรวรรดิออตโตมันจนมีชัยชนะ แอลเบเนียจึงเห็นเป็นโอกาสประกาศเอกราชเมื่อวันที่๒๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๒ และภายหลังสงครามบอลข่านสิ้นสุดลงประเทศมหาอำนาจตะวันตกต่างยอมรับเส้นพรมแดนและความเป็นเอกราชของแอลเบเนียในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๓ แต่คอซอวอถูกโอนกลับคืนให้เซอร์เบีย
     ภายหลังที่แอลเบเนียได้รับเอกราช เจ้าชายวิลเฮล์มแห่งราชวงศ์ีวด(Wilhelm of Wied) ได้รับเลือกเป็นกษัตริย์ปกครองประเทศ แต่รัชสมัยของพระองค์ก็มีช่วงเวลาอันสั้นเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในซึ่งพระองค์ไม่สามารถแก้ไขได้ เจ้าชายวิลเฮล์มจึงเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๔ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ อิตาลี กรีซ และยูโกสลาเวียต่างมีกรณีพิพาทแย่งชิงดินแดนแอลเบเนีย แต่หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ประเทศมหาอำนาจต่างยืนยันรับรองความเป็นเอกราชของแอลเบเนียอีกครั้งหนึ่งอย่างไรก็ตาม ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๒๕ สถานการณ์ของประเทศสับสนอลหม่าน มีผู้รวบรวมสมัครพรรคพวกหลายกลุ่มพยายามชิงกันเป็นรัฐบาลแต่ประสบความสำเร็จไม่มากนัก จนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๑ ประเทศมหาอำนาจที่เกี่ยวข้องจึงตกลงตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินปกครองแอลเบเนียสืบต่อมาจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๔ แต่ใน ค.ศ. ๑๙๒๕อาห์เม็ด เบย์ โซกู (Ahmed BeyZogu) ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินใหญ่ผู้หนึ่งได้ทำการกบฏยึดอำนาจการปกครองและประกาศตั้งแอลเบเนียเป็นสาธารณรัฐ โซกูได้เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอลเบเนียอีก ๓ ปี ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๘ โซกูก็ประกาศสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าซ็อกที่ ๑ (Zog I) และปกครองประเทศจนถึง ค.ศ. ๑๙๓๙
     ในรัชสมัยของพระเจ้าซ็อกที่ ๑ แม้พระองค์จะปฏิรูปประเทศด้วยการจัดตั้งระบบการศึกษาแห่งชาติและปรับปรุงกฎหมายและการศาลให้ทันสมัยตามแบบประเทศตะวันตก แต่พระองค์ทรงใช้อำนาจเด็ดขาดในการปกครอง ทรงจัดตั้งกองตำรวจเพื่อคอยปราบปรามฝ่ายตรงข้ามและสอดส่องควบคุมประชาชนขณะเดียวกันก็ทรงลดอำนาจของรัฐสภาให้เป็นเพียงหุ่นเชิดของพระองค์ มีการพยายามโค่นอำนาจของพระองค์แต่ประสบความล้มเหลว ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แอลเบเนียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิตาลี ทั้งทางการทหารและการทูตจนได้ชื่อว่าเป็นประเทศบริวารของอิตาลี นอกจากนี้ แอลเบเนียยังต้องพึ่งอิตาลี ทางด้านเศรษฐกิจและการค้าทั้งมีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ของธนาคารชาติแอลเบเนียที่กรุงโรมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้นในค.ศ. ๑๙๓๙อิตาลี โดยการนำของเบนีโต มุสโสลีนี(Benito Mussolini) ผู้นำพรรคฟาสซิสต์ ซึ่งมีนโยบายขยายดินแดนจึงเห็นเป็นโอกาสส่งกองทัพเข้ายึดครองแอลเบเนียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๙ และขับไล่พระเจ้าซ็อกที่ ๑ออกจากราชบัลลังก์ บุคคลสำคัญที่วางแนวนโยบายต่างประเทศของอิตาลี เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรปคือเคานต์กาเลียซโซ เชียโน (Galeazzo Ciano) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นบุตรเขยของมุสโสลีนี เขาไม่เพียงเห็นพ้องกับมุสโสลีนีที่จะสร้างพันธมิตรระหว่างอิตาลี กับเยอรมนี เท่านั้นแต่ยังสนับสนุนให้มีการสถาปนาพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ (Victor Emmanuel III) แห่งอิตาลี เป็นกษัตริย์แอลเบเนียอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
     ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ อิตาลี ได้ขยายอำนาจเข้าไปในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้โดยส่งกองทัพเดินผ่านแอลเบเนียเข้าโจมตีกรีซ ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ แต่ประสบความล้มเหลว ฝ่ายเยอรมนี ซึ่งเป็นพันธมิตรอิตาลี จึงเข้าช่วยเหลือด้วยการส่งกองทัพของตนเข้าบุกกรีซ และยึดครองคาบสมุทรบอลข่านใน ค.ศ. ๑๙๔๑ทั้งฉวยโอกาสเข้าครอบครองแอลเบเนียด้วย ในช่วงเวลาที่เยอรมนี เข้ายึดครองประเทศ (ค.ศ. ๑๙๔๓-๑๙๔๔) ชาวแอลเบเนียที่รักชาติได้จัดตั้งขบวนการใต้ดินเพื่อต่อต้านเยอรมนี และกลุ่มต่อต้านที่สำคัญคือแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ(NationalLiberation Front) โดยมีเอนเวอร์ โฮซา (Enver Hoxha) ผู้นำของขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติแอลเบเนียและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แอลเบเนียเป็นผู้นำโฮซาและสหายคู่คิดคนสำคัญคือเมห์เมต เชฮู (Mehmet Shehu) ได้รวบรวมเพื่อนร่วมชาติทำสงครามจรยุทธ์ต่อต้านอิตาลี และเยอรมนี อย่างเข้มแข็ง เมื่อเยอรมนี เริ่มปราชัยในสงครามโลกครั้งที่ ๒ และถอนกองกำลังออกจากแอลเบเนียในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ พรรคคอมมิวนิสต์ของโฮซาก็เข้ายึดอำนาจการปกครองและจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นบริหารประเทศและเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น ระหว่างค.ศ. ๑๙๔๔-๑๙๔๕ รัฐบาลเฉพาะกาลใช้นโยบายสังคมนิยมปกครองประเทศและพยายามดำเนินการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามตลอดจนเตรียมการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไปที่มีขึ้นครั้งแรกหลังสงครามเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๕พรรคคอมมิวนิสต์และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย (Democratic Front) ที่นิยมคอมมิวนิสต์ซึ่งได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นได้จัดตั้งคณะรัฐบาลปกครองประเทศโดยมีโฮซาเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อมา รัฐสภาแอลเบเนียก็ประกาศประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาชนแอลเบเนีย (PeopleûsRepublic of Albania) เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖ และในวันที่ ๑๔ มีนาคมค.ศ. ๑๙๔๖ ก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ซึ่งยึดรัฐธรรมนูญของสหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวียเป็นแม่แบบ พรรคคอมมิวนิสต์ในเวลาต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคแรงงานแอลเบเนีย (Albanian Labour Party)
     หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ แอลเบเนียมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับยูโกสลาเวียเพราะแอลเบเนียต้องการความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการเงินเพื่อบูรณะประเทศ ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ ทั้ง ๒ ประเทศทำสนธิสัญญามิตรภาพและความช่วยเหลือระหว่างกันและในสัญญาดังกล่าวมีมาตรการที่จะจัดตั้งสหภาพศุลกากรเพื่อวางแผนเศรษฐกิจร่วมกันและเปิดดินแดนของประเทศทั้งสองให้มีการค้าต่อกันโดยเสรีรวมทั้งใช้เงินตราชนิดเดียวกัน นอกจากนี้ โคซิโซเซ (Koci Xoxe) สมาชิกคนสำคัญในโปลิตบูโร (Politburo) ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยระหว่างค.ศ. ๑๙๔๔-๑๙๔๘ ก็มีนโยบายสนับสนุนให้แอลเบเนียเข้าร่วมกับยูโกสลาเวียและให้เริ่มด้วยการรวมหน่วยเศรษฐกิจของทั้ง ๒ ประเทศเข้าไว้ด้วยกันก่อน นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในพรรคคอมมิวนิสต์แอลเบเนียในเวลาต่อมาอย่างไรก็ตาม เมื่อยูโกสลาเวียถูกขับไล่ออกจากองค์การโคมินฟอร์ม (Cominform)ซึ่งเป็นองค์การกลางเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารและประสานงานกับพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกโดยมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๘ สหภาพโซเวียตได้เรียกร้องให้กลุ่มประเทศบริวารของตนตัดความสัมพันธ์ทุกด้านกับยูโกสลาเวียแอลเบเนียก็ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างรวดเร็วเนื่องจากโฮซาและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แอลเบเนียส่วนใหญ่ต้องการขจัดอิทธิพลของยูโกสลาเวียให้หมดไปจากประเทศของตนและกำจัดกลุ่มสมาชิกพรรคที่นิยมยอซีป บรอซหรือตีโต (JosipBroz; Tito) แอลเบเนียจึงสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับสหภาพโซเวียตเป็นครั้งแรก ทั้งประกาศยอมรับความเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียตในขบวนการคอมมิวนิสต์สากล หลัง ค.ศ. ๑๙๔๘ เป็นต้นมา แอลเบเนียก็ดำเนินนโยบายภายในและภายนอกประเทศตามแบบสหภาพโซเวียตอย่างเคร่งครัดทั้งยังกวาดล้างกลุ่มบุคคลที่มีความโน้มเอียงสนับสนุนตีโตผู้นำยูโกสลาเวียชาตินิยมด้วย
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๕๖ เมื่อนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ผู้นำสหภาพโซเวียตเริ่มนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-stalinization) และปรับนโยบายต่างประเทศใหม่ด้วยการเน้นหลักการการอยู่ร่วมกันโดยสันติ (PeacefulCo-existence) กับประเทศที่มีระบอบการเมืองการปกครองแตกต่างกันและการยอมรับแนวทางอันหลากหลายของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกในการสร้างสรรค์ประเทศบนเส้นทางสังคมนิยม สหภาพโซเวียตได้ปรับความสัมพันธ์กับยูโกสลาเวียและนโยบายดังกล่าวทำให้แอลเบเนียไม่พอใจอย่างมากเพราะต้องเปลี่ยนนโยบายที่มีต่อยูโกสลาเวียด้วยยิ่งเมื่อครุชชอฟกล่าวประณามโจเซฟ สตาลิน(Josepf Stalin) อย่างรุนแรงในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ ๒๐ เพื่อมุ่งทำลายรากฐานของลัทธิสตาลิน (Stalinism) และกลุ่มสตาลินที่ครองอำนาจทางการเมืองในสหภาพโซเวียตมากว่า ๒๕ ปี ทั้งมีการปราบปรามผู้นำทั้งหมดที่นิยมสตาลินในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก โฮซาซึ่งเป็นสาวกคนสำคัญของสตาลินทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติก็ยิ่งขุ่นเคืองไม่พอใจสหภาพโซเวียตมากขึ้น ท่าทีของผู้นำแอลเบเนียทำให้สหภาพโซเวียตพยายามประสานและรักษาไมตรีไว้ ระหว่าง ค.ศ.๑๙๕๗-๑๙๕๙ สหภาพโซเวียตเพิ่มงบช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่แอลเบเนียมากขึ้นและยกเลิกหนี้สินจำนวน ๔๒๒ ล้านรูเบิลให้ด้วย แต่แอลเบเนียก็ยังไม่พอใจนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลินของโซเวียตดังนั้น เพื่อความอยู่รอด แอลเบเนียจึงเริ่มปรับนโยบายต่างประเทศใหม่ด้วยการหันไปมีความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนและยอมรับความช่วยเหลือด้านสินเชื่อและผู้เชี่ยวชาญจากจีนคอมมิวนิสต์
     อย่างไรก็ตาม ในการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตที่กรุงมอสโกในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๐ ครุสชอฟได้กล่าวประณามนโยบายของสาธารณรัฐประชาชนจีนและแอลเบเนียที่ไม่ยอมร่วมการล้มล้างอิทธิพลสตาลินและไม่ได้ดำเนินนโยบายตามสหภาพโซเวียต แอลเบเนียตอบโต้ด้วยการสั่งปิดฐานทัพเรือดำน้ำของสหภาพโซเวียตที่เมืองวโลเรอร์ (Vloler) ตลอดจนลดบทบาทของตนลงในองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization - WTO) และองค์การโคเมคอน (Comecon) โดยเพิ่มความสัมพันธ์กับจีนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับแอลเบเนียจึงร้าวรานมากขึ้น และเมื่อเกิดิวกฤตการณ์คิวบาใน ค.ศ. ๑๙๖๒ แอลเบเนียสนับสนุนจีนในการประณามสหภาพโซเวียตว่าเป็นเสือกระดาษและผู้บิดเบือนลัทธิมากซ์-เลนิน ทั้งประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหภาพโซเวียต หลังกลางทศวรรษ ๑๙๖๐ เป็นต้นมาสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงมีความสัมพันธ์กับแอลเบเนียในฐานะมหามิตรและช่วยพัฒนาแอลเบเนียแทนสหภาพโซเวียตอย่างเต็มที่ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๖-๑๙๖๙ แอลเบเนียยังนำนโยบายปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนมาปรับใช้โดยดำเนินการปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศด้วย มีการสนับสนุนปัญญาชนคอมมิวนิสต์ให้จัดตั้งเป็นกองกำลังแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมและรณรงค์ให้กิจกรรมทางวัฒนธรรมและปัญญาทุกประเภทตอบสนองและรับใช้อุดมการณ์สังคมนิยม นอกจากนี้ มีการปิดและทำลายศาสนสถานกว่า ๒,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศเพื่อจะทำให้แอลเบเนียเป็นประเทศแรกในโลกที่ไม่มีศาสนา
     ในต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างแอลเบเนียกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มเปลี่ยนแปลงเนื่องจากนโยบายการผ่อนคลายความตึงเครียด (D”tente) ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสหรัฐอเมริกาและการปรับความสัมพันธ์เพื่อคืนดีกันใหม่ระหว่างสหภาพโซเวียตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน แอลเบเนียจึงเริ่มปรับนโยบายต่างประเทศด้วยการจะไม่ผูกพันกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมากจนเกินไป และประกาศจะสร้างชาติให้เป็นประเทศสังคมนิยมอิสระที่ยึดมั่นในหลักการลัทธิมากซ์-เลนิน (Marxism-Leninism) อย่างเคร่งครัดอย่างไรก็ตาม แอลเบเนียกลับไปมีนโยบายเป็นมิตรกับยูโกสลาเวียอีกครั้งโดยยอมตกลงเกี่ยวกับสถานภาพดินแดนคอซอวอ (Kosovo) ให้มีฐานะเป็นจังหวัดอิสระ (autonomous province) ในสาธารณรัฐเซอร์เบียซึ่งสังกัดกับสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย แต่แอลเบเนียก็ยังคงอ้างสิทธิในคอซอวอเพราะถือว่าเป็นที่อยู่อาศัยของชาวแอลเบเนียมาตั้งแต่สมัยโบราณ ใน ค.ศ. ๑๙๗๕ แอลเบเนียดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นอิสระให้เป็นที่ประจักษ์ด้วยการปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมการประชุมเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือกันในยุโรปหรือซีเอสซีอี(Conference on Security and Cooperation in Europe - CSCE) ที่มีขึ้น ณกรุงเฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการประชุมเพื่อร่วมมือกันจัดสรรผลประโยชน์และเขตอิทธิพลระหว่างประเทศมหาอำนาจโดยประเทศเล็กไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย แอลเบเนียจึงเป็นประเทศในทวีปยุโรปเพียงประเทศเดียวที่มิได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้
     เมื่อเหมา เจ๋อตง (Mao Zedong) ผู้นำจีนถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. ๑๙๗๖กลุ่มผู้นำใหม่ของจีนได้แสดงท่าทีจะประณามเหมา เจ๋อตงเหมือนกับที่ครุชชอฟเคยกระทำต่อสตาลินใน ค.ศ. ๑๙๕๖ โฮซาผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แอลเบเนียซึ่งสนิทกับเหมา เจ๋อตง และไม่พอใจจีนในการจะปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาอยู่แล้วจึงประณามกลุ่มผู้นำใหม่ของจีนอย่างเปิดเผยและรุนแรงในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แอลเบเนียครั้งที่ ๗ ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ วัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งของการโจมตีจีนครั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์กันทั่วไปว่าแอลเบเนียเป็นฝ่ายที่ยึนหยัดในหลักการลัทธิมากซ์-เลนิน ในขณะที่นโยบายของผู้นำจีนกลุ่มใหม่เป็นสิ่งที่ิผดขณะเดียวกันโฮซาก็คาดหวังว่าการโจมตีดังกล่าวจะมีส่วนทำให้ผู้นำจีนกลุ่มอื่นเห็นด้วยและจะช่วยกันต่อต้านหรือระงับแนวนโยบายที่ไม่ถูกต้องของจีนเสีย แต่โฮซาก็คาดการณ์ผิดเพราะ เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) ผู้นำจีนที่สืบอำนาจต่อจากฮั่ว กว๋อเฟิง (Hua Guofeng)ยิ่งมีนโยบายนอกรีตและคบหากับประเทศตะวันตกมากขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ แอลเบเนียประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปลี่ยนชื่อประเทศจากสาธารณรัฐประชาชนแอลเบเนียเป็นสาธารณรัฐประชาชนสังคมนิยมแอลเบเนีย (Peopleûs Socialist Republic of Albania) เพื่อเน้นว่าแอลเบเนียยึนหยัดในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และยังคงแน่วแน่ที่จะสืบสานนโยบายของสตาลินต่อไปใน ค.ศ. ๑๙๗๗ แอลเบเนียก็เริ่มตัดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยการเรียกตัวนักศึกษาชาวแอลเบเนียในจีนกลับประเทศและส่งคืนผู้เชี่ยวชาญชาวจีนกลับไปด้วย จีนตอบโต้ด้วยการยกเลิกนโยบายช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหารแก่แอลเบเนีย ต่อมา ทั้ง ๒ ประเทศก็ระงับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ใน ค.ศ. ๑๙๗๘ แอลเบเนียกลายเป็นประเทศที่อยู่โดดเดี่ยวและขาดความช่วยเหลือจากนานาประเทศในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก ระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเริ่มพังพินาศเพราะขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือและเครื่องจักรใหม่ ๆ ที่ทันสมัยในการผลิต ทั้งระบบการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจก็ไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนจึงถูกบังคับใช้แรงงานอย่างหนักในการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวม (Collectivization) และการอุตสาหกรรม
     อย่างไรก็ตาม นโยบายการตัดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนและการกลับไปเป็นประเทศที่อยู่โดดเดี่ยวดังเดิมก็นำมาซึ่งความขัดแย้งภายในพรรคและการเคลื่อนไหวต่อต้านโฮซา ในปลาย ค.ศ. ๑๙๘๑ เมห์เมต เชฮู นายกรัฐมนตรีผู้เป็นสหายสนิทของโฮซาซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างประเทศดังกล่าวจึงพยายามก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจแต่ล้มเหลวและต่อมาเขาถูกตัดสินประหารชีวิตหลังการก่อรัฐประหารครั้งนี้โฮซาก็ปกครองประเทศเป็นเผด็จการมากขึ้นทั้งเสริมสร้างอุดมการณ์ทางการเมืองให้แข็งแกร่งด้วยการเน้นแนวความคิดลัทธิการบูชาบุคคล (Cult of Personality) เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ตนเป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจและความยิ่งใหญ่ทุกด้าน ๆ ของระบอบสังคมนิยมตามแนวทางอิสระของแอลเบเนียจนเขาถึงแก่อสัญกรรมลงเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๘๕ โฮซาปกครองแอลเบเนียรวม ๓๙ปีซึ่งนับว่ายาวนานกว่าผู้นำประเทศคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกคนอื่น ๆ ในขณะนั้น แม้เขาจะสามารถเปลี่ยนประเทศจากซากระบบฟิวดัลที่ล้าหลังให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า แต่ความล้มเหลวของการปฏิรูปเศรษฐกิจในทศวรรษ ๑๙๗๐ ก็ทำให้แอลเบเนียยากจนและประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง รามิซอาเลีย (Ramiz Alia) เลขาธิการพรรคคนที่ ๑ ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจจากโฮซาจึงต้องปรับนโยบายทางเศรษฐกิจและการเมืองให้ผ่อนคลายมากขึ้น การก้าวสู่อำนาจของอาเลียเป็นช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกับการเริ่มนโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา (Glasnost-Perestroika)หรือนโยบายเปิด-ปรับประเทศให้เป็นประชาธิปไตยของสหภาพโซเวียต ซึ่งมีประธานาธิบดีมีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) เป็นผู้นำ อาเลียจึงใช้เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงที่กำลังก่อตัวขึ้นในสหภาพโซเวียตผ่อนปรนความเข้มงวดทางการปกครองและปฏิรูปเศรษฐกิจ เขาประกาศนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองและเริ่มให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนและสื่อมวลชนทั้งพยายามดำเนินการจะปรับความสัมพันธ์กับนานาประเทศตลอดจนการจะนำแนวตลาดเสรีมาใช้ทางเศรษฐกิจ
     ในปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ เมื่อประชาชนในประเทศยุโรปตะวันออกต่าง ๆก่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อปฏิรูปประเทศจนเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙(Revolutions of 1989) ทั่วยุโรปตะวันออกและสามารถล้มล้างระบอบคอมมิวนิสต์ภายในประเทศได้สำเร็จรวมทั้งประกาศนโยบายเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียตแอลเบเนียก็ได้รับผลกระเทือนจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวด้วยประชาชนและนักศึกษาเริ่มเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์ปฏิรูปการเมืองและสังคม ในต้น ค.ศ. ๑๙๙๐พรรคแรงงานแอลเบเนียจึงประกาศนโยบายปฏิรูปการเมืองและการจะให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในขอบเขตที่เหมาะสม ทั้งเริ่มมีการปลดผู้นำพรรคหัวอนุรักษ์ออกจากตำแหน่งสำคัญในพรรคและรัฐบาล รัฐบาลให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยการยอมให้มีการจัดพิธีกรรมและกิจกรรมทางศาสนาได้ ยกเลิกระบบเซนเซอร์สื่อมวลชน และให้มีการจัดประชุมเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างเสรีขณะเดียวกันก็ผ่อนปรนให้ชาวต่างประเทศที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไม่ต้องแต่งกายเคร่งครัดตามกฎข้อบังคับของศาสนาและให้ความสะดวกมากขึ้นด้านข่าวสารและการติดต่อ จำนวนนักท่องเที่ยวจึงเพิ่มมากขึ้นจาก ๗,๐๐๐ คน ในค.ศ. ๑๙๘๗ เป็น ๑๔,๔๓๕ คนใน ค.ศ. ๑๙๘๙ และ ๒๙,๓๐๖ คนใน ค.ศ. ๑๙๙๑อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงกลายเป็นรายได้หลักที่สำคัญของประเทศในเวลาต่อมานอกจากนี้ รัฐบาลยังอนุญาตให้ประชาชนมีหนังสือเดินทางและสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ทั้งยังดำเนินการติดตั้งสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศเพื่อให้มีการติดต่อกับญาติมิตรและครอบครัวได้สะดวกขึ้น นโยบายดังกล่าวเป็นการบ่งชี้ถึงการจะยุติการอยู่อย่างโดดเดี่ยวของประเทศ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ รัฐสภาประชาชน (Peopleûs Assembly) ได้ออกกฎหมายให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองต่าง ๆได้และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๑
     ผลการเลือกตั้งทั่วไปที่มีขึ้นปรากฏว่าพรรคแรงงานแอลเบเนียได้เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา รามิซ อาเลียจึงได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศโดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๑ ซึ่งเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐแอลเบเนียและกำหนดให้รัฐสภาแห่งชาติ (National Assembly) ซึ่งเป็นระบบสภาเดียวเป็นสถาบันการปกครองสูงสุด มีสมาชิก ๑๕๕ คนและดำรงตำแหน่งวาระละ ๔ ปีโดย ๑๑๕ ที่นั่งเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนและอีก ๔๐ ที่นั่งเป็นการจัดสรรตามสัดส่วนคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้รับเลือกเข้ามา อาเลียประกาศนโยบายจะดำเนินการปฏิรูปให้มากขึ้นและจะปรับความสัมพันธ์ทางการทูตใหม่กับสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต แต่อาเลียก็บริหารประเทศได้เพียงชั่วเวลาอันสั้นเนื่องจากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองอันสืบเนื่องจากการชุมนุมประท้วงของกรรมกรในเดือนกรกฎาคมที่เรียกร้องให้ปรับปรุงสวัสดิการและเพิ่มค่าแรง รัฐบาลจึงต้องใช้กำลังเข้าปราบปรามซึ่งมีผลให้สถานการณ์เลวร้ายลงและการเคลื่อนไหวต่อต้านก็ปะทุขึ้นทั่วประเทศจนทำให้รัฐบาลต้องลาออกในที่สุดความวุ่นวายทางการเมืองและความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆยังส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากเดินทางออกนอกประเทศไม่ขาดระยะเพื่อแสวงหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่าในประเทศยุโรปอื่น ๆ
     อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๒พรรคแรงงานแอลเบเนียซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคสังคมนิยมได้รับเลือกเพียง ๒๘ ที่นั่งรัฐบาลชุดใหม่โดยการนำของประธานาธิบดีซาลีเบรีชา (Sali Berisha) ผู้นำพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) ซึ่งได้เสียงถึง ๙๒ ที่นั่งในรัฐสภา จึงบริหารปกครองประเทศด้วยการประกาศนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นระบบตลาดเสรีส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และการจะปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ชาวนาได้เป็นเจ้าของที่ดินและเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมให้เจริญขึ้น รวมทั้งการจะปรับความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับนานาประเทศในยุโรป ตลอดจนการเข้ามีส่วนร่วมในองค์การซีเอสซีอีในฐานะประเทศภาคีสมาชิกผู้สังเกตการณ์ นอกจากนี้ แอลเบเนียยังดำเนินนโยบายเปิดประเทศและขอรับความช่วยเหลือด้านการเงินและอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ จากต่างประเทศหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และอิตาลี ซึ่งก็ได้ให้ความช่วยเหลือ เศรษฐกิจของประเทศจึงเริ่มฟื้นตัวและมีเสถียรภาพขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่แอลเบเนียก็ยังคงได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งของประเทศที่ยากจนในยุโรป ขณะเดียวกันแอลเบเนียซึ่งเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๕ ก็เข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO) ในฐานะภาคีเพื่อสันติภาพ (NATO-Partnership for Peace)ด้วย
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๗-๒๐๐๒ ซึ่งถือเป็นช่วงสมัยการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยแอลเบเนียเริ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้น พรรคการเมืองต่าง ๆมีบทบาทสำคัญในการชี้แนะแนวทางการปกครองแบบประชาธิปไตยแก่ประชาชนสื่อมวลชนเติบโตและมีเสรีภาพและองค์การเอกชนและธุรกิจก็ขยายตัวมากขึ้น ในค.ศ. ๑๙๙๘ มีการลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศซึ่งค้ำประกันการปกครองด้วยกฎหมายและปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานรวมทั้งเสรีภาพในการนับถือศาสนา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๒อัลเฟรด มอยซีอู (Alfred Moisiu)ได้รับเลือกจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี การดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นความตกลงร่วมกันระหว่างพรรคการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองและนำไปสู่ช่วงสมัยของความมีเสถียรภาพทางการเมืองในแอลเบเนียต่อมาในต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๕ มีการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่สะท้อนถึงพลังเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยในแอลเบเนีย พรรคประชาธิปไตยและพรรคพันธมิตรอื่น ๆ ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นและกลับมาบริหารประเทศโดยมีนโยบายปราบปรามอาชญากรรมและการทุจริตฉ้อฉล และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซาลี เบรีชา ผู้นำพรรคประชาธิปไตยได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๕
     ในต้นทศวรรษ ๒๐๐๐ แอลเบเนียมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของชนชาติกลุ่มน้อยในดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรปและร่วมมือกับชุมชนและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและร่วมมือกันในยุโรป ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ แอลเบเนียและสหรัฐอเมริกาลงนามในสนธิสัญญาป้องกันการแพร่อาวุธการทำลายล้างมหาศาลและส่งเสริมการป้องกันและความสัมพันธ์ทางทหาร (Treaty on the Prevention of Proliferationof Weapons of Mass Destruction and the Promotion of Defense andMilitary Relations) และในเดือนเดียวกันแอลเบเนีย โครเอเชีย มาซีโดเนีย(Macedonia) และสหรัฐอเมริกาก็ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มกฎบัตรเอเดรียติก (AdriaticCharter) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาค และเป็นพื้นฐานของการดำเนินงานเพื่อเข้าเป็นสมาชิกสมบูรณ์ขององค์การนาโต นอกจากนี้ แอลเบเนียยังสนับสนุนสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลกและสนับสนุนนโยบายของสหรัฐอเมริกาในอิรักและอัฟกานิสถาน สหรัฐอเมริกาก็ถือว่าแอลเบเนียเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของตนและสนับสนุนแอลเบเนียให้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (European Union)ด้วย.
     

ชื่อทางการ
สาธารณรัฐแอลเบเนีย (Republic of Albania)
เมืองหลวง
ติรานา (Tirana)
เมืองสำคัญ
ดูร์เรส (Durrës) ชโกเดอร์ (Shkodër) และคอร์เช (Korçë)
ระบอบการปกครอง
ประชาธิปไตย
ประมุขของประเทศ
ประธานาธิบดี
เนื้อที่
๒๘,๗๔๘ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ : ประเทศเซอร์เบีย และประเทศมอนเตเนโกร ทิศตะวันออก : ประเทศมาซิโดเนีย ทิศใต้ : ประเทศกรีซ ทิศตะวันตก : ทะเลเอเดรียติก
จำนวนประชากร
๓,๖๐๐,๕๒๓ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
แอลเบเนียร้อยละ ๙๕ กรีกร้อยละ ๓ และอื่น ๆ ร้อยละ ๒
ภาษา
แอลเบเนีย
ศาสนา
อิสลามร้อยละ ๗๐ คริสต์นิกายแอลเบเนียออร์ทอดอกซ์ร้อยละ ๒๐ คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ ๑๐
เงินตรา
เลก (lek)
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป